วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ย้อนรอยคดียุบพรรคไทยรักไทย พิสูจน์คำว่า 2 มาตรฐาน

คำร้องให้ยุบพรรคไทยรักไทย ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องว่า

พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล
รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นและ
ร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน อันเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้มีการปลอมเอกสาร เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541

โดยระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2549 พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต และ พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ นายทหารคนสนิทของพล.อ.ธรรมรักษ์ ได้มอบเงินรวม 3,675,000 บาท แก่นางฐัติมา ภาวะลี ผู้ประสานงานพรรคแผ่นดินไทย เป็นค่าใช้จ่าย ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย

วันที่ 3 มีนาคม 2549 พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ได้ร่วมกับนายทวี สุวรรณพัฒน์ นายยุทธพงศ์หรือนายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์และนายธีรชัยหรือต้อย จุลพัฒน์ มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้ นาย ชก. โตสวัสดิ์ ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อนำไปให้นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ไปใช้จ่ายในการนำสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง 
วันที่ 6 และวันที่ 8 มีนาคม 2549 นายทวีได้นำเงินไปให้นาย ชก. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพัฒนาชาติไทยรวม 1,190,000 บาท
การกระทำของ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของพรรคไทยรักไทย
ขอให้ มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 ข้อ 3

สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
กรณีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้อง และพยานหลักฐานทั้งหมด ของคู่กรณีโดยละเอียด ได้มี คำวินิจฉัย ในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายโดยมีรายละเอียดสรุปดังนี้


1.คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 35

2.การยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง

3.การสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่จำต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 19 วรรคสองและวรรคสาม เป็นการดำเนินการตามคำสั่งของนายทะเบียนพรรคการเมือง มิใช่การดำเนินการตามคำสั่งของ กกต. จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งระเบียบ กกต. ข้อ 40

4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีศักดิ์และสถานะทางกฎหมายเท่ากับพระราชบัญญัติทั่วไป การยกเลิกหรือการทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลบังคับจึงต้องมีกฎหมายยกเลิกหรือมีกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับแทน

5.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 328 ให้อำนาจองค์กรนิติบัญญัติตรากฎหมายที่มีผลเป็นการยกเลิกหรือยุบพรรคการเมืองได้ มิได้มีความหมายเลยไปถึงว่าองค์กรนิติบัญญัติจะตรากฎหมายลงโทษพรรคการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) (3) และ (4) ไม่ได้ จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่เกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพของบุคคล



6.เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้ว ย่อมมีอำนาจใช้ดุลยพินิจสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 63 วรรคสาม ได้ทันที

7.การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งถูกยกเลิกไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวนั้น หามีผลเป็นการยกเลิกความผิดที่ได้กระทำไปแล้วไม่

8.ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยจัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. แก้ไขข้อมูลสมาชิกพรรค เพื่อให้ครบ 90 วัน โดยมีพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สนับสนุน และพรรคพัฒนาชาติไทยกับพรรคแผ่นดินไทย ออกหนังสือรับรองสมาชิกพรรคของตนอันเป็นเท็จ

9.พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นกรรมการบริหารพรรคคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย ดำเนินการเพื่อให้พรรคไทยรักไทยสามารถกลับคืนสู่อำนาจได้โดยเร็ว การกระทำมีผลผูกพันพรรคไทยรักไทย

10.การกระทำของพรรคไทยรักไทย เข้าหลักเกณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย

11.การกระทำของพรรคไทยรักไทยเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

12.ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ใช้บังคับกับเหตุยุบพรรคตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (1) (2) และ (3) เพราะความในมาตรา 66 (1) (2) และ (3) มีความหมายชัดเจนว่าเป็นบทบัญญัติที่ห้ามกระทำการอยู่ในตัว

13.ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ที่ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา

14.การที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะเกิดเหตุลาออกจากตำแหน่งก่อนวันมีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ลบล้างผลของการกระทำที่พรรคการเมืองได้

คณะตุลาการจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย ถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน  มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

ที่มา

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2549#cite_note-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น